ศิลปิน : วลงกรณ์ เทียนเพิ่มพูน
ขนาด : 30 x 30 ซม. (100 ตัว) และ 15 x 15 ซม. (260 ตัว)
วัสดุ : สังกะสี
เทคนิค : ตัดฉลุ ดัดรูป สาน และทาสี
การสานปลาตะเพียนใบลานคืองานหัตถศิลป์ของคนไทยที่สืบทอดกันมานานกว่า 100 ปี สะท้อนภาพความผูกพันของคนไทยกับสายน้ำและธรรมชาติ นอกจากนี้ คนไทยสมัยก่อนยังเชื่อกันว่าปลาตะเพียนเป็นสัญลักษณ์แแห่งความอุดมสมบูรณ์ด้วย เพราะช่วงเวลาที่ปลาตัวโตเต็ม คือช่วงที่ข้าวตกรวงพร้อมเก็บเกี่ยวพอดี ดั่งที่มีคำกล่าวว่า “ข้าวใหม่ปลามัน” ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขอย่างแท้จริง
การสานปลาตะเพียนในอดีตมักใช้วัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น เช่น ใบมะพร้าว ใบลาน และใบตาล เมื่อสานแล้วนำมาทำเป็นเครื่องแขวน ผูกไว้เหนือเปลเด็กอ่อนเพื่อให้เด็กดูเล่น และถือเป็นการอวยพรให้เด็กเจริญเติบโตสุขภาพแข็งแรง มีฐานะมั่งคั่งร่ำรวย ปัจจุบันก็ยังเชื่อสืบกันมาด้วยว่าหากปลาตะเพียนสานแขวนอยู่สถานที่ใด ที่นั่นก็จะมั่งมีศรีสุข ทำมาค้าขึ้น ศิลปินจึงถ่ายทอดความเชื่อนี้ผ่านวัสดุ เทคนิค และวิธีการทำใหม่ๆ เพื่อสื่อสารให้เข้ากับบริบทสมัยปัจจุบัน